ประวัติหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

ประวัติความเป็นมาPDFพิมพ์อีเมล
  • พ.ศ.๒๓๖๗ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี ได้มีการจัดตั้งหน่วยทหารนาวิกโยธินขึ้น ในครั้งนั้น เรียกชื่อว่า ทหารมะรีน เป็น ทหารถือปืนเล็กทำการรบอย่างทหารราบ และเป็นกำลังทหารที่ใช้เป็นกองทหารเกียรติยศสำหรับรับ-ส่ง เสด็จกับเป็นกองทหาร เกียรติยศไปกับเรือหลวง เพื่อส่งเสด็จ-รับเสด็จ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทางเรือ
  • ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ ทหารมะรีนได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นฝีพายเรือพระที่นั่ง และเรือพระประเทียบ กับมีหน้าที่ดูแลรักษาเรือพระที่นั่ง ณ โรงเรือบริเวณท่าราชวรดิษฐ์ ซึ่งอยู่ในบริเวณ เดียวกันกับที่ตั้งหน่วยทหารมะรีน
  • พ.ศ.๒๔๑๘ ในต้นรัชกาลที่ ๕ ทางราชการได้จัดหาปืนกลแคตลิ่ง ซึ่งเป็นอาวุธทันสมัยมาใช้ราชการในหน่วยทหารมะรีน จึงมีการเพิ่มกำลังและจัดหน่วยทหารมะรีนใหม่เป็น
    • ๔ กองปืนกลแคตลิ่ง
    • ๔ กองทหารราบ
    • ๑ กองทหารปืนใหญ่
มี น.อ.พระชลยุทธโยธิน หรือ กัปตัน ริชลิว ชาวเดนมาร์ก เป็นผู้บังคับบัญชา (มีหน่วยปืนใหญ่ขึ้น แต่ยังมิได้กำหนดเป็นเหล่าทหารปืนใหญ่)
  • พ.ศ.๒๔๔๖ มีการจัดหน่วยทหารมะรีนใหม่ โดยจัดเป็นหน่วยขนาดกองพัน ใช้ชื่อว่า กองพันพาหนะ ขึ้นตรงต่อกรมทหารเรือ และทหารมะรีนในกองพันพาหนะ แบ่งออกเป็น ๒ เหล่า คือ เหล่าทหารราบ และเหล่าทหารปืนใหญ่ ตามคำสั่ง กรมทหารเรือที่ ๑๑/๑๕๕๒ เรื่อง ระเบียบข้าราชการในกรมทหารเรือ ให้ทหารมะรีนเหล่าทหารปืนใหญ่ เป็นทหารประจำป้อมปืนทางปากน้ำ ส่วนทหารราบประจำอยู่ ณ กรุงเทพ ฯ และสถานีทหารเรือตามชายฝั่งทะเล (กำเนิดทหารปืนใหญ่)
  • พ.ศ.๒๔๖๒ รัชสมัยรัชกาลที่ ๖ กรมทหารเรือได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น กระทรวงทหารเรือ และเมื่อ ๑ ก.ค.๒๔๖๒ กระทรวงทหารเรือได้ตราข้อบังคับว่าด้วย การจำแนก พรรค - เหล่า จำพวกและประเภททหารเรือขึ้น กำหนดให้ทหารเรือประเภทพลรบ ได้แก่ พรรคนาวิน, พรรคกลิน และ พรรคนาวิกโยธิน คำว่า ทหารนาวิกโยธิน ซึ่งถือกำเนิดขึ้น และใช้แทนคำว่า ทหารมะรีน ที่ใช้อยู่เดิม ในการแบ่งพรรคเหล่าครั้งนี้ พรรคนาวิกโยธิน ยังคงมีเหล่าทหารราบ และเหล่าทหารปืนใหญ่ เช่นเดิม
  • พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ทหารนาวิกโยธิน จากกองพันพาหนะ ได้เข้าร่วมปฏิบัติการด้วยหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดกองพันพาหนะใหม่ โดยในส่วนของทหารราบ ได้จัดกำลังใหม่ให้เป็นไปทำนองเดียวกับ กองพันทหารราบของกองทัพบก และเปลี่ยนชื่อเป็น กองพันนาวิกโยธิน ขึ้นตรงต่อมณฑลทหารเรือกรุงเทพ ฯ
  • พ.ศ.๒๔๗๗ ได้มีการปรับปรุงการจัดของกองพันนาวิกโยธิน โดยจัดตั้ง ๑ กองร้อยทหารปืนใหญ่ขึ้น ใช้ปืนใหญ่ภูเขาขนาด ๗๕ มม. ซึ่งผลิตจากประเทศญี่ปุ่น (ใช้ในราชการจนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๔)
  • พ.ศ.๒๔๘๐ ได้มีการจัดตั้งกองพันนาวิกโยธิน ขึ้นที่สัตหีบ อีก ๑ กองพัน ใช้ชื่อว่า กองพันนาวิกโยธินที่ ๒ ส่วนกองพันเดิมที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ใช้ชื่อว่า กองพันนาวิกโยธินที่ ๑
  • พ.ศ.๒๔๘๒ ได้ย้ายกองพันนาวิกโยธินที่ ๑ จากกรุงเทพ ฯ มาเข้าที่ตั้งที่สัตหีบ แล้วจัดตั้ง กรมนาวิกโยธิน ขึ้นเป็นครั้งแรก มีการจัดประกอบด้วย ๒ กองพันทหารราบ และ ๑ กองพันทหารปืนใหญ่ (กองพันทหารปืนใหญ่ ใช้ชื่อว่า กองพันนาวิกโยธินที่ ๔
  • พ.ศ.๒๔๘๖ ได้เปลี่ยนแปลงชื่อหน่วยจาก กองพันนาวิกโยธินที่ ๔ เป็น กองพันนาวิกโยธินที่ ๑๑
  • พ.ศ.๒๔๘๘ ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างและอัตรากำลังของ กองพันนาวิกโยธินที่ ๑๑ และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น กองพันทหารปืนใหญ่ กรมนาวิกโยธิน (พัน.ป.นย.)
  • พ.ศ.๒๔๙๔ เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เรียกกันว่า กบฎแมนฮัดตัน เป็น ผลให้ กรมนาวิกโยธินถูกยุบ คงเหลือกำลังไว้เพียง ๑ กองพัน ใช้ชื่อว่า กองป้องกันสถานีทหารเรือสัตหีบ และมีแต่อาวุธเบาไว้ใช้ในราชการเท่านั้น
  • พ.ศ.๒๔๙๘ โดยการช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐ ฯ กองทัพเรือจึงได้จัดตั้ง กรมนาวิกโยธิน ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งที่สัตหีบ ซึ่งมี กองพันทหารราบ และ กองพันทหารปืนใหญ่ เช่นเดียวกับเมื่อก่อนถูกยุบหน่วยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔
  • พ.ศ.๒๕๐๔ ได้มีการปรับปรุงอัตราใหม่จาก กองพันทหารปืนใหญ่ กรมนาวิกโยธิน เป็น กองพันทหารปืนใหญ่ กรมผสมนาวิกโยธิน กรมนาวิกโยธิน (พัน.ป.ผส.นย.) ประกอบด้วย ๔ กองร้อยทหารใหญ่เบา ขนาด ๗๕ มม., ๑ กองร้อยเครื่องยิงลูกระเบิดหนัก และ ๑ กองร้อยทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน
  • พ.ศ.๒๕๒๑ กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่ง ลับมาก (เฉพาะ) ที่ ๑๒๘/๒๕๒๑ ลง ๑๐ ส.ค.๒๑ เรื่อง แก้ไขอัตรากองทัพเรือ พ.ศ.๒๕๐๑ ยุบกรมผสมนาวิกโยธิน และจัดตั้งกรมทหารราบ กรมทหารปืนใหญ่ ฯลฯ ขึ้นตรงต่อ กรมนาวิกโยธิน ทำให้ พัน.ป.ผส.นย. แปรสภาพและขยายหน่วยเป็น หน่วยระดับกรม ใช้ชื่อว่า กรมทหารปืนใหญ่ ขึ้นตรงต่อ นย.ประกอบด้วย กองบังคับการกรมและกองร้อยกองบังคับการ, ๒ กองพันทหารปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง, ๑ กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน และ ๑ กองพันทหารปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้ง กรมทหารปืนใหญ่ จึงได้กำหนดให้ วันที่ ๑๐ สิงหาคม ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนาหน่วยมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๕๒๖ กรมกำลังพลทหารเรือได้กำหนดหลักเกณฑ์ การพิจารณาในการกำหนดวันคล้ายวันสถาปนาหน่วยขึ้น โดยมีหลักเกณฑ์ให้วันที่มีความสำคัญหรือวันที่มี เหตุการณ์ปรากฏเด่นชัด เช่น วันวางศิลาฤกษ์อาคารหน่วย, วันที่ได้รับอนุมัติ ให้จัดตั้งหน่วย, วันสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน่วย ดังนั้น กรมทหารปืนใหญ่ โดย นาวาเอก สมภูรณ์ สุนทรเกตุ ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ ในขณะนั้น จึงได้เชิญนายทหารฝ่ายอำนวยการ และผู้บังคับกองพันในสังกัดกรมทหารปืนใหญ่ ประชุมหารือเกี่ยวกับการกำหนดวันสถาปนาหน่วยและที่ประชุมได้มีมติให้กำหนดเอาวันที่ ๓๑ มกราคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนา กรมทหารปืนใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ พัน.ป.ผส.นย. ได้จัดกำลังพลพร้อมอาวุธปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง ขนาด ๗๕ มม. จำนวน ๒ กระบอก ออกเดินทางจากที่ตั้งปกติ อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี ไปลงเรือ LCM (กร.๖๒) ที่จังหวัดตราด และไปขึ้นบกที่หาดสารพัดพิษ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เพื่อปฏิบัติภารกิจในการป้องกันการรุกล้ำอธิปไตยจากประเทศกัมพูชา ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญ และเป็นวีรกรรมครั้งแรกของทหารปืนใหญ่ นย. ในบทบาทการป้องกันประเทศ และเพื่อให้วีรกรรมนี้เป็นที่รู้จักกันในหมู่ทหารนาวิกโยธินจึงได้เปลี่ยนจาก วันคล้ายวันสถาปนากรมทหารปืนใหญ่ เป็น วันทหารปืนใหญ่ มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
  • พ.ศ.๒๕๓๒ กระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่ง ลับมาก (เฉพาะ) ที่ ๕๒/๒๕๓๒ ลง ๓๑ มี.ค.๓๒ เรื่อง แก้อัตรากองทัพเรือ พ.ศ.๒๕๐๑ โดยมีการจัดตั้ง กองพลนาวิกโยธิน ขึ้นเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หลักการและเหตุผลในการจัดตั้งกองพลนาวิกโยธินขึ้นก็คือ เพื่อให้การปฏิบัติการรบร่วมกันระหว่างหน่วยรบและหน่วยสนับสนุนการรบของ นย.ดำเนินไปอย่างใกล้ชิด และมีประสิทธิภาพ กรมทหารปืนใหญ่ จึงได้เปลี่ยนสายการบังคับบัญชาจากหน่วยขึ้นตรงต่อ นย. มาเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น